สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย แปลรายงานของ นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ที่ตีพิมเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2559 เรื่อง Exclusive: Tiger Temple Accused of Supplying Black Market

ระบุเป็นภาษาไทยว่า
วัดเสือ: สวรรค์สัตว์ป่าหรือธุรกิจแสวงหากำไร
ไม่นานมานี้มีรายงานว่า พระวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (หรือ วัดเสือ) จ.กาญจนบุรี มีการเร่งเพาะเสือเพื่อป้อนตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย


สภาพเสือซึ่งอยู่กันอย่างแออัดในกรงวัดเสือ ซึ่งมีในครอบครองรวม 147 ตัว รายงานล่าสุดระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัดและตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 
(ภาพ: Sharon Guynup, National Geographic)
วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาขับรถประมาณสามชั่วโมง เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์ภูสิต (จันทร์) ขันติธโร และพระเลขาเจ้าอาวาส คือ พระจักรกฤษณ์ อภิสุทธิพงษากุล
วัดเสือ เป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเข้ามาสัมผัส ถ่ายรูปคู่แบบใกล้ชิด เดินเคียงข้าง หรือแม้กระทั่งป้อนนมให้กับลูกเสือ ซึ่งทางวัดมีเสือในครอบครองถึง 147 ตัว ประเมินรายได้จากกิจการนี้เฉลี่ยปีละกว่าร้อยล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเสือในวัดมายาวนาน โดยอดีตลูกจ้างที่เคยทำงานให้กับวัด กล่าวหาว่าทางวัดแสวงหาผลประโยชน์จากเสือในทางที่ผิด และมีการทารุณกรรมเกิดขึ้นอีกด้วย เช่น การตี การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การขาดการดูแลโดยสัตวแพทย์ การให้อยู่อาศัยในกรงขนาดเล็ก ทำให้เสือขาดโอกาสในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางวัดปฎิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และล่าสุดมีการร้องเรียนว่าวัดมีความเกี่ยวพันกับการค้าเสือผิดกฎหมาย
เนื่องจากความตระหนักในสวัสดิภาพสัตว์ ข้อกล่าวหาต่างๆ ทำให้วัดกลายเป็นสิ่งเตือนใจทุกคนเพื่อปกป้องสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งนับวันถูกคุกคามในธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ 100 ปีก่อน เคยมีเสือมากถึง 100,000 ตัว อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียรวม 30 ประเทศ ปัจจุบันเหลือเสือในธรรมชาติอยู่เพียง 3,200 ตัวใน 11 ประเทศเท่านั้น
เดือนก่อน Sharon Guynup (ผู้เขียนข่าว) และ Steve Winter (ช่างภาพ) ได้เข้าไปสัมภาษณ์พระจักรกฤษณ์ เนื่องจากพระอาจารย์ภูสิตปฏิเสธการให้สัมภาษณ์เรื่องเสือเพศผู้สามตัวที่หายไป (ดาวเหนือ อายุ 7 ปี ฟ้าคราม 3 อายุ 3 ปี และแฮปปี้ 2 อายุ 5 ปี) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557
พระจักรกฤษณ์กล่าว “เรายังคงมีเสืออยู่ที่นี่ พวกมันยังอยู่ที่วัดเสือแห่งนี้แน่นอน”
นายสัตวแพทย์ สมชัย วิเศษมงคลชัย สัตวแพทย์ผู้ซึ่งทำงานกับทางวัดมานาน ยืนยันว่า เสือทั้งสามตัวได้ฝังไมโครชิพ และลงทะเบียนไว้กับทางรัฐบาลแล้ว เพราะเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายไทยสำหรับสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงในกรง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นายสมชัย ลาออกจากงานที่วัดและส่งมอบไมโครชิพที่ได้รับการเอาออกจากเสือ ให้แก่ นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
หลังจากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าตรวจที่วัดเสือ พบว่า เสือสามตัวนั้นหายไปอย่างแน่นอน นอกจากนี้พบว่ามีเสืออีก 13 ตัวที่ไม่ได้ฝังไมโครชิพ และยังพบซากเสือในตู้แช่แข็งอีกด้วย
องค์กร Cee4life (Conservation and Environmental Education for Life) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาแสดงหลักฐานเกี่ยวกับเสือที่ถูกนำเข้าและเคลื่อนย้ายออกจากวัดเสืออย่างผิดกฎหมาย อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2547 โดยนำรายงานมาส่งมอบให้กับทางรัฐบาลไทย และทาง National Geographic เมื่อธันวาคม 2558 และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกสู่สาธารณะเมื่อเดือนมกราคม 2559
ในรายงานมีบันทึกของสัตวแพทย์ ได้ระบุถึง เสือสี่ตัวที่เลี้ยงอยู่ในวัดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแท้จริงแล้วถูกจับมาจากธรรมชาติ ในช่วงปี 2542 ถึง 2543 และในปี 2547 เสือเพศเมีย ชื่อ น่านฟ้า ได้นำเข้ามาจากประเทศลาว โดยในสัญญา (พ.ศ. 2548) ลงนามโดยเจ้าอาวาส แสดงรายละเอียดการแลกเสือเพศผู้ของทางวัดกับเสือเพศเมียของหน่วยงานที่เพาะเสือเชิงพาณิชย์ในประเทศลาว นอกจากนี้ยังมีเทปบันทึกเสียงซึ่งได้มาจากที่ปรึกษาของวัด ได้บันทึกการสนทนาระหว่างเจ้าอาวาสและนายสมชัยเกี่ยวกับเสือสามตัวที่หายไป
การค้าระหว่างประเทศของเสือที่มีชีวิต รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ นั้นถือว่าผิดกฎหมายไทย รวมถึงขัดแย้งกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 182 ประเทศที่เป็นสมาชิก
และจนบัดนี้ยังไม่มีใครถูกจับกุม ยังไม่มีใครโดนดำเนินคดี และยังไม่ทราบชะตากรรมของเสือสามตัวที่หายไป อย่างไรก็ตามเร็ว ๆ นี้ทางรัฐบาลจะเคลื่อนย้ายเสือจากวัดไปยังหน่วยงานของรัฐ (เช่น สถานีเพาะเลี้ยง เป็นต้น)


อาคารศูนย์ฝึกสมาธิ ส่วนหนึ่งของการขยายโครงการที่วัดเสือ เป็นโครงการมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท 
(ภาพ: Steve Winter, National Geographic)
นอกจากนี้ ทางวัดถูกกล่าวหาเรื่องลักลอบขนเสือตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดย National Geographic จากรายงานการศึกษาของกลุ่มอนุรักษ์ชื่อ British Wildlife Group Care for the Wild และในขณะเดียวกันกลุ่ม International Tiger Coalition ได้กล่าวถึงวัดเสือซึ่งไม่เคยสนับสนุน หรือช่วยเหลือการอนุรักษ์เสือในธรรมชาติเลย ในทำนองเดียวกัน ข้อกล่าวหาจากบทความนี้ยังขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของวัดที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์อยู่ร่วมกันกับเสือได้

การเพาะพันธุ์เสือ

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายนั้นเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีทั้งค้าขายอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประมาณรายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ทั่วโลกว่าสามารถทำเงินได้ถึง 6.65 แสนล้านบาทต่อปี
ผลิตภัณฑ์จากเสือมีมูลค่ามหาศาลในตลาดมืด ดังนั้นหน่วยงานที่เพาะเสือเชิงพาณิชย์ จึงเพาะเสือออกมาจำนวนมากเพื่อขายผลิตภัณฑ์หรืออวัยวะเหล่านั้น ซึ่งการทำฟาร์มเสือแบบนี้ขัดแย้งกับอนุสัญญาไซเตส (2007) ซึ่งระบุว่า ห้ามการเพาะเลี้ยงเสือเพื่อการค้าขายใด ๆ ทั้งสิ้น
Debbie Banks ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือจากหน่วยงานตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) ในลอนดอน กล่าวถึงการค้าเสือผิดกฎหมายที่มาจากการเพาะเลี้ยงอย่างกรณีวัดเสือนี้ ว่ามีผลกระทบมากกว่าแค่ชีวิตเสือ 147 ตัวในวัด เพราะหากสามารถป้อนความต้องการของตลาดมืดด้วยผลิตภัณฑ์จากเสือที่เพาะเลี้ยงได้ ต่อไปเสือในป่าไม่ว่าจะประเทศอินเดีย บนเกาะสุมาตรา ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีเสืออาศัยอยู่ เสือในธรรมชาติเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นที่จะถูกล่าเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นแน่นอน
จากรายงานปี 2557 โดยไซเตส พบว่า อวัยวะของเสือถูกนำมาบริโภคเป็นยาน้อยลง แต่กลับถูกผลิตเป็นสินค้าที่ดูหรูหราและแปลกใหม่ เช่น ไวน์ที่ต้มจากกระดูกเสือ (ต้มโครงกระดูกเสือในไวน์ข้าว) หรือเอาหนังเสือมาประดับในบ้าน ซึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะในหมู่คนรวยในประเทศจีน เป็นต้น


พระอาจารย์ภูสิต (จันทร์) ขันติธโร เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับลูกเสืองสองตัว ซึ่งจากรายงานล่าสุด ระบุ ทางวัดมีการเร่งเพาะเสือ เพื่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 
(ภาพ: Steve Winter, National Geographic)
Debbie กล่าวต่ออีกว่า มีเสือมากกว่า 5,000 ตัวซึ่งถูกเพาะเลี้ยงอยู่ในฟาร์มในประเทศจีน ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับสอง ประมาณ 950 ตัว และยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบจำนวนเสือในประเทศลาว และเวียดนาม ในตอนนี้ไม่อาจทราบได้ว่ามีเสือจำนวนเท่าใดที่เลี้ยงไว้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างวัดเสือ และไม่อาจทราบได้ว่ามีเสืออีกกี่ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อซื้อขายผิดกฎหมาย และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »